วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

สิ่งที่ควรรู้ ยาปฏิชีวนะ ไม่ใช่ ยาแก้อักเสบ

12 ส.ค. 2023
1180

        การเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเจอนะคะ หลีกเลี่ยงได้ยากจริงๆค่ะ บางครั้งเจ็บป่วยเล็กๆน้อย ก็มักจะหายาทานกันเองบ้าง ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกตินะคะ ดังนั้นบทความนี้ จึงจะมานำเสนอ ความรู้เกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ หรือ ที่มักเรียกกันติดปากว่า ยาฆ่าเชื้อนั่นเองค่ะ ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ มักเรียกยาปฏิชีวนะว่า เป็นยาแก้อักเสบ ซึ่งเป็นการเรียกที่ไม่ถูกต้องเลยนะคะ เพราะ “ยาปฏิชีวนะ” ไม่ใช่ “ยาแก้อักเสบ” นั่นเองค่ะ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การใช้ยานี้จะทำให้โรคที่เป็นอยู่หายเร็วขึ้น เพราะยาจะไปรักษาหรือแก้การอักเสบค่ะ ซึ่งบอกเลยว่า ค่อนข้างอันตรายเลยนะคะ กับการใช้ยาผิดประเภทแบบนี้ และความเข้าใจผิดในประเภทของยานะคะ เรามาลองทำความเข้าใจกับยาปฏิชีวนะ และ ยาแก้อักเสบ ที่ถูกต้องไปพร้อมกันกันดีกว่าค่ะ


ยาปฏิชีวนะ ( Antibiotic)

ยาปฏิชีวนะ หรือ ยาต้านแบคทีเรีย เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส ไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ แก้ปวด ลดไข้ ใดๆเลยนะคะ ใช้รักษาเฉพาะโรคที่เกิดจาก การติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เช่น ทอนซิลอักเสบเป็นหนอง ตัวอย่างยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลิน อะม็อกซีซิลิน เตตร้าซัยคลิน เลโวฟล็อกซาซิน

ยาแก้อักเสบ (Anti-inflamition)
         
ยาแก้อักเสบ หรือยาต้านการอักเสบ เป็นยาที่ออกฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดไข้ บรรเทาปวด ลดบวมแดง ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่แล้วการอักเสบไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่มักเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น คออักเสบจากเชื้อไวรัส ผิวหนังอักเสบจากการแพ้แดด หรือสารเคมี หรือการอักเสบของกล้ามเนื้อ จากการยกของหนัก ตัวอย่างยาแก้อักเสบ เช่น แอสไพริน ไดโคลฟิแนค ไอบรูโพรเฟน พอนสแตน อาร์คอกเซีย จาโปรลอค

จากความหมายที่ชัดเจนของงยาทั้งสองประเภทนี้ จะเห็นได้เลยนะคะว่า ประสิทธิภาพของยาทั้งสองประเภทนี้ ให้ฤทธิ์ต่างกันและรักษาอาการคนละที่แตกต่างอย่างชัดเจนค่ะ เพราะฉะนั้น หากเกิดการใช้ยาผิดประเภทย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างแน่นอนนะคะ

อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่ถูกต้อง

  1. เกิดอาการแพ้ยา ซึ่งหากแพ้ไม่มากอาจมีแค่ผื่นคัน ถ้ารุนแรงขึ้นผิวหนังจะเป็นรอยไหม้ หลุดลอก หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
  2. เกิดอาการเชื้อดื้อยา การกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ จะกระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ใหม่ขึ้น แพงขึ้น ซึ่งเหลือให้ใช้อยู่ไม่กี่ชนิด สุดท้ายก็จะไม่มียารักษา และเสียชีวิตในที่สุด
  3. เกิดโรคแทรกซ้อน ยาปฏิชีวนะจะฆ่าทั้งแบคทีเรียก่อโรค และแบคทีเรียชนิดดีมีประโยชน์ในลำไส้ของคนเรา เมื่อแบคทีเรียชนิดดีตายไป เชื้ออื่นๆ ในร่างกายจึงฉวยโอกาสเติบโตมากขึ้น ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง โดยผนังลำไส้ถูกทำลายหลุดลอกมากับอุจจาระ ซึ่งอันตรายถึงชีวิต

        เพราะฉะนั้นแล้ว หากกินยาปฏิชีวนะเข้าไปเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นยาแก้อักเสบ ทั้งที่ความจริงเป็นยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียแล้ว ยาก็ไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัสได้ นอกจากไม่เกิดประโยชน์ ในการรักษาการอักเสบที่เกิดขึ้น ยังส่งผลทำให้เชื้อโรคดื้อยาได้มากขึ้นอีกด้วยนะคะ

หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวแล้ว วิธีที่ดีและปลอดภัยที่สุด ก็คือ ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัดนั่นเองค่ะ และทุกครั้งที่ได้รับยาปฏิชีวนะมาต้องรับประทานให้ครบ เพราะบ่อยครั้งพบว่าผู้ป่วยหยุดใช้ยาเมื่ออาการดีขึ้น ซึ่งจะมีผลเสียอาจทำให้โรคกลับเป็นซ้ำ หรือเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ยังรักษาไม่หายดีได้นั่นเองค่ะ

ที่มา : คลังความรู้สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม เรื่อง ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ , สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เรื่อง การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมสำหรับประชาชน