ช่วงนี้ฝนตกตกเกือบทุกวัน อากาศเย็น ชุ่มฉ่ำกันเลยทีเดียวค่ะ แต่ในช่วงหน้าฝนนี้ ก็ต้องควรระวัง พวกแมลง และสัตว์มีพิษเข้าบ้านกันด้วยนะคะ ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมทั้งในบ้าน และบริเวณรอบบ้านให้เป็นระเบียบ ไม่รกรุงรัง เพื่อช่วยป้องกันแมลง และสัตว์มีพิษที่พบบ่อยในฤดู 4 ชนิด ได้แก่
- งู มักอาศัย อยู่ในบริเวณที่ชื้นแฉะ รก และมีแหล่งอาหาร เช่นหนู
- โดยให้สำรวจบริเวณรอบบ้าน ปิดช่องทางที่หนูและงูสามารถเข้ามาได้
- ตรวจสอบระบบท่อไม่ให้มีรูรั่วหรือรอยแตก
- ควรตรวจสอบรองเท้าก่อนใส่ เนื่องจากงูอาจหลบซ่อนอยู่
- หากพบงูอยู่ในบ้านให้โทร 199 เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญมาจัดการ
กรณีถูกงูกัด
- ให้ปฐมพยาบาลโดยล้างแผลด้วยน้ำสะอาด
- ห้ามกรีดหรือดูดบริเวณที่ถูกกัด
- ไม่ควรขันชะเนาะ
- รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
- จดจำลักษณะงูที่กัด เพื่อแจ้งแพทย์ให้การรักษาที่ถูกต้อง
2. ตะขาบ
เมื่อโดนกัดจะมีอาการปวด คัน บวมแดงบริเวณที่ถูกกัด การปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด และประคบน้ำอุ่นครั้งละประมาณ 10 นาทีเพื่อลดอาการบวมหลีกเลี่ยงการเกา แกะบริเวณที่ถูกกัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อหากพบว่ามีอาการบวมหรือปวดเพิ่มขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์
3. แมงป่อง
ผู้ที่ถูกแมงป่องต่อย จะปวดบวมบริเวณที่ถูกต่อย โดยมากจะมีอาการในวันแรกและมักหายได้เองส่วนรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีหัวใจเต้นเร็วหายใจเร็ว ความดันโลหิตสูง ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก ปฐมพยาบาลโดยทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาดและประคบเย็นครั้งละประมาณ10 นาที เพื่อลดอาการบวม
4. แมลงก้นกระดก
ที่มีลำตัวเป็นปล้องๆ มีสีดำสลับสีแดงหรือสีแดงอมส้ม ห้ามตีหรือขยี้ด้วยมือเปล่า ให้ใช้ผ้าหรือกระดาษเขี่ยแมลงออกไปหากสัมผัสโดนตัวแมลง พิษของมันจะทำให้ปวดแสบปวดร้อน มีอาการคัน ผิวไหม้ ผื่นแดง และเป็นตุ่มน้ำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ จุ่มหรือแช่บริเวณที่โดนแมลงในน้ำเย็น 5-10 นาที สลับกับการเป่าให้แห้งหากมีอาการอักเสบรุนแรงให้รีบพบแพทย์ทันที
วิธีการป้องกัน
- ควรดูแล และหมั่นทำความสะอาดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้มีมุมอับชื้น หรือเป็นแหล่งหลบซ่อนอาศัยของแมลง สัตว์มีพิษ
- คัดแยกขยะก่อนทิ้ง และทิ้งขยะ หรือเศษอาหารในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหาร และแหล่งเพาะพันธุ์
- ควรปรับปรุงบริเวณภายนอกบ้าน หากมีการปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน ควรตัดแต่งไม่ให้รกรุงรัง พร้อมกับกำจัดเศษใบไม้ใบหญ้าทุกครั้ง ไม่ควรกองทิ้งไว้เพราะจะทำให้เป็นที่อาศัยของสัตว์มีพิษได้
ที่มา : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข