โรคแพนิค (Panic) คือ ภาวะตื่นตระหนก วิตกกังวล หรือความกลัว ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันเหมือนโดนจู่โจมทั้งที่ไม่ได้เผชิญกับเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ที่อันตรายใด ๆเลย ซึ่งอาการรุนแรงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 3-10 นาที เกิดขึ้นเป็นพัก ๆ อาจนานถึงหนึ่งชั่วโมง โดยมักเกิดขึ้นร่วมกันอาการต่าง ๆ ที่พบได้ดังนี้
อาการของโรคแพนิค ที่พบได้บ่อย ๆ
- ใจเต้นเร็ว สั่นเหมือนตีกลอง
- เจ็บบริเวณหน้าอก
- หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม
- รู้สึกมึนงง โคลงคลง เป็นลม
- รู้สึกชา หรือซ่า ตามปลายมือ ปลายเท้า
- ตัวร้อนวูบวาบ หรือตัวสั่น
- เหงื่อแตก
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้หรือปั่นป่วนในท้อง
- ความรู้สึกเหมือนตกอยู่ในความฝัน มีการรับรู้บิดเบือนไป
- ความกลัวอย่างท่วมท้น ร่วมกับความรู้สึกสังหรณ์ว่ามีบางอย่างที่น่ากลัวเกิดขึ้นกับตัวเอง และเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ กลัวว่าจะตาย กลัวว่าจะควบคุมตนเองไม่ได้ เหมือนจะเป็นบ้า หรือแสดงอาการบางอย่างที่น่าอายออกไป
หากมีอาการ ‘แพนิก’ ผู้ป่วยควรรับมืออย่างไรให้ถูกต้อง
- โรคนี้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เหมือนที่ผู้ป่วยมักกลัว
- ควรไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษา
- ไม่ควรบรรเทาอาการด้วยการเสพสุรา หรือใช้ยานอนหลับ เพราะอาการรุนแรงขึ้นเมื่อหยุดเสพ
- ลดหรืองด กาแฟ ชา เครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ประเภทโคล่าทุกชนิด
- ออกกำลังกายตามสมควร ตามความสามารถ
- เมื่อมีอาการต่างๆ ทุเลาลงแล้ว ควรออกไปเผชิญกับสถานการณ์ที่เคยหวาดกลัวและลองทำกิจกรรมที่เคยหลีกเลี่ยงโดยเริ่มทีละน้อยแต่สม่ำเสมอ
- ฝึกเทคนิกการผ่อนคลาย เพื่อลดระดับของความตึงเครียด
รักษาอย่างไรได้บ้าง
ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ คือการรักษาทางยาร่วมกับการดูแลด้านจิตใจ ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นมากจนหายขาดได้ 7 หรือ 9 รายใน 10 ราย โดยอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ภายหลังเริ่มมีอาการรักษาแล้ว 6-8 สัปดาห์ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วแพทย์ยังคงให้การรักษาต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อป้องกันการกำเริบของอาการ การหยุดยาควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรหยุดยาทันที เพราะจะเกิดอาการหยุดยาหรือมีอาการกำเริบ
ที่มา : โรงพยาบาลไทยนครินทร์