บทความนี้จะมานำเสนอ เกี่ยวกับแนวโน้มอาชญากรรมออนไลน์ที่ใช้ AI ในปี 2567 ที่จะึงนี้กันนะคะ โดยพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจจะได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ โดยออกมาเตือนประชาชนที่ใช้อินเทอร์เน็ตให้เพิ่มความระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการที่คนร้ายอาจนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) มาใช้ในการสร้างเนื้อหาปลอมขึ้นมา เพื่อใช้ในการฉ้อโกง หรือสร้างความเสียหาย โดย AI นั้น สามารถนำมาใช้ในการสร้างภาพ หรือคลิปปลอมหลอกลวงหลายรูปแบบ เพื่อนำมาแสวงหาประโยชน์ต่าง ๆ ยกตัวอย่าง เช่น
- การสร้างภาพหรือคลิปปลอมเป็นบุคคลอื่น (AI Deepfakes) เพื่อใช้ในการฉ้อโกง
- การสร้างคลิปลามกปลอม (AI Deepfakes) ทำให้บุคคลอื่นเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือแสวงหาประโยชน์
- การเลียนเสียงของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนรู้จัก (AI Voice Covers) จากตัวอย่างเสียง เพื่อใช้ในการฉ้อโกง
- การสร้างข่าวปลอม (Fake News) ที่ดูน่าเชื่อถือ ทำให้เกิดความตื่นตระหนก หรือความเข้าใจผิด
ทั้งนี้วิธีการที่จะป้องกันตนเอง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อนั่นก็คือ การอย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น หรือได้ยินในโลกออนไลน์ โดยยึดหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ต่างๆนั่นเองค่ะ
และหากพบว่าตนเองถูกแอบอ้าง หรือปลอมบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แล้ว ก็ให้รีบดำเนินการ “แจ้งความ รีพอร์ต บอกเพื่อน” เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิทต่อไป ทั้งนี้ “การหลอกให้โอนเงิน” “การหลอกให้กู้เงิน” และ “การข่มขู่ทางโทรศัพท์” ก็ยังคงรูปแบบคดีที่มีผู้เสียหาย และสร้างความเสียหายในอันดับต้น ๆเช่นกันค่ะ
จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า
- รูปแบบคดีที่มีจำนวนการแจ้งความมากที่สุด อันดับ 1 ได้แก่ การหลอกลวงซื้อขายสินค้า หรือบริการทางออนไลน์” มีจำนวนกว่า 150,000 คดี
- ส่วนรูปแบบคดีที่มีความเสียหายรวมสูงที่สุด อันดับ 1 คือ “หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์” มีความเสียหายรวมกว่า 16,000 ล้านบาท
หากประชาชนได้รับความเสียหาย จากการหลอกลวงออนไลน์ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง เลยนะคะ
ที่มา : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ