วันพุธ, 27 พฤศจิกายน 2567

รู้จักโรคเดอกาแวง อาการปวดข้อมือสุดฮิตของคนติดมือถือ

28 ก.ค. 2023
1376

บทความนี้ จะมานำเสนอความรู้เกี่ยวกับ โรคเดอกาแวง (De Quervain’s Disease) นะคะ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับข้อมือของเรา ใครที่เคยเป็นจะรู้สึกว่ามันทรมานมากเลยนะคะ แค่ขยับข้อมือผิดท่า ก็ทำให้ปวดแปล๊บขึ้นมาเลยทีเดียวค่ะ


โรคเดอกาแวง เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็น และปลอกของเส้นเอ็น ที่บริเวณข้อมือฝั่งนิ้วโป้ง มักพบในกลุ่มคนดังนี้ค่ะ

  1. กลุ่มคนที่ติดโซเซี่ยลชอบใช้มือถือนาน ๆ แบบไม่หยุดพัก
  2. กลุ่มคนทำงานออฟฟิศ ที่ต้องนั่งพิมพ์งานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน
  3. กลุ่มแม่บ้านที่ต้องทำงานบ้านเป็นประจำ ทั้งกวาดบ้าน ซักผ้าด้วยมือ บิดผ้าตาก ใช้กรรไกร ฯลฯ
  4. กลุ่มคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ตั้งครรภ์ หรือคุณหลังคลอดที่ต้องอุ้มลูกบ่อย ๆ
  5. กลุ่มคนที่มีประวัติอุบัติเหตุที่ข้อมือโดยตรง

ต่อไปมาลองดูวิธีการเช็คอาการว่าเป็นโรคเดอกาแวงหรือไม่กันนะคะ

วิธีการเช็ค โรคเดอกาแวงเบื้องต้น

  • คลำปุ่มกระดูกนูนที่ข้อมือฝั่งนิ้วโป้ง จะกดเจ็บ อาจบวมร่วมด้วย
  • กำนิ้วโป้งของตัวเอง แล้วหักข้อมืองอลงไปทางนิ้วก้อย จะปวดมาก แนะนำลองทำสองข้างเปรียบเทียบกัน

การรักษาโรคเดอกาแวงเบื้องต้น สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้ค่ะ

  1. พักการใช้งานมือบ้าง
    การพักผ่อนและหยุดกิจกรรมที่ทำให้ข้อมือเจ็บปวดเป็นสิ่งแรกที่ควรทำก่อนเลย เพื่อลดการอักเสบของเส้นเอ็น
  2. ประคบเย็น
    โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์แรก จะใช้เป็นเจลเย็นหรือน้ำแข็งห่อผ้าขนหนูก็ได้ ประคบนาน 10-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง ช่วยลดอาการปวด บวมได้
  3. หากเป็นเรื้อรัง ลองใช้ความร้อน
    เช่น การประคบอุ่น หรือแช่มือในน้ำอุ่น นาน 10-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง
  4. ยาแก้ปวด
    ใช้ยากลุ่มลดอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อลดอาการปวด และอักเสบ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อน หากเป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือมีโรคประจำตัวอื่น ๆ
  5. อุปกรณ์พยุงข้อมือ และนิ้วหัวแม่มือ
    เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวที่มากเกินไป ให้เอ็นได้พักบ้าง และช่วยให้การอักเสบหายเร็วขึ้น

แต่หากมีอาการปวดข้อมือ เป็นเวลานาน หรือปวดรุนแรงขึ้น รีบมาปรึกษาแพทย์เลยนะคะ เพื่อทำการรักษาด้วยวิธีการอื่นต่อไปนั่นเองค่ะ ยกตัวอย่าง เช่น

  • การฉีดยาสเตียรอยด์ เป็นการลดปวดที่ให้ผลดีและเห็นผลไว แต่ไม่แนะนำให้ฉีดเกิน 2-3 ครั้ง เพราะนอกจากจะเป็นการบ่งชี้ว่า ตัวโรคมีความรุนแรงเกินการรักษาด้วยยาแล้ว ยังเสี่ยงต่อการฉีกขาดของเอ็นด้วย
  • การใช้เครื่องมือกายภาพบำบัดลดปวด เช่น อัลตราซาวน์ เลเซอร์ ช็อคเวฟ เป็นต้น
  • การฝังเข็มจีน
  • การผ่าตัด ในกรณีที่ทำการรักษาด้วยทุกวิธีข้างต้นแล้ว ยังไม่หาย และอาการปวดถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

สำหรับโรคเดอกาแวงนี้ หากรีบมารักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ผลการรักษามักจะตอบสนองดีและหายปวดไวนะคะ แต่ถ้ายิ่งปล่อยทิ้งไว้นานเท่าไหร่ โอกาสถึงขั้นต้องผ่าตัดก็จะยิ่งสูงขึ้นเช่นกันค่ะ