วันพุธ, 27 พฤศจิกายน 2567

อาหาร 7 ประเภทที่กินแล้วเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง

23 พ.ค. 2024
608

ในปัจจุบัน โรคมะเร็งกลายเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญทั่วโลก โดยมีปัจจัยเสี่ยงมากมายที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค รวมถึงพฤติกรรมการกิน การรับประทานอาหารบางชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ เนื่องจากอาจมีสารก่อมะเร็งหรือสารที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง บทความนี้เราจะสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างการกินอาหารและความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง โดยเน้นถึงอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง

หมูกระทะ

อาหาร 7 ประเภทที่ควรเลี่ยง ได้แก่

  1. อาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนย มาการีน น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เนื่องจากไขมันจากสัตว์และไขมันอิ่มตัวจะก่อให้เกิดการอักเสบของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายและก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก
  2. อาหารแปรรูป / หมักดอง เช่น ไส้กรอก เบคอน ปลาร้า ปลาเค็ม แหนม เนื่องจากอาหารแปรรูป / อาหารหมักดอง จะมีดินประสิวและสารไนไตรต์ ไนเตรต เป็นส่วนประกอบที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้
  3. อาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีต่าง ๆ เช่น อาหารสีฉูดฉาดผิดปกติ เนื่องจากมีส่วนผสมของสีผสมอาหารมากจนเกินไป และผัก ผลไม้ที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้
  4. อาหารปิ้ง รมควัน จนไหม้เกรียม / อาหารทอดน้ำมันซ้ำ ๆ เช่น หมูย่าง เนื้อย่าง ไก่ทอด มันฝรั่งทอด ซึ่งการปิ้งรวมควันอาหารจนไหม้เกรียมจะก่อให้เกิดสารพีเอเอช (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon – PAH) ก่อให้เกิด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม.
  5. อาหารกึ่งสุก กึ่งดิบ เช่น ปลา ปู กุ้ง หอย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งสามารถพบในสัตว์น้ำจืด ส่งผลให้เกิดภาวะตับแข็งและเป็นมะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี
  6. อาหารที่มีเชื้อรา เช่น ถั่วลิสง พริกแห้ง หอม กระเทียม เมล็ดพืช ซึ่งส่งผลให้เกิดมะเร็งตับ
  7. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นเหตุให้ตับทำงานหนักมากขึ้น จนเกิดภาวะตับแข็ง และจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในช่องปาก มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งอื่น ๆ อีกหลายชนิด

โรคมะเร็งที่คนไทยเป็นมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่:

  1. มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี: เป็นโรคที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ซึ่งพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30-70 ปี โรคมะเร็งตับมีสาเหตุหลักคือ การได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ การดื่มแอลกอฮอล์ รับสารพิษอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) การรับยาบางชนิด และพันธุกรรม
  2. มะเร็งปอด: เป็นโรคที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในผู้ชายไทย พบว่าสาเหตุหลักของมะเร็งปอดมาจากการสูบบุหรี่ หรือรับควันบุหรี่ โดยอาการเริ่มแรกมักมีการไอเสมหะหรือไอมีเลือด เจ็บหน้าอก หายใจดังและถี่ ความอยากอาหารลดลง เป็นต้น
  3. มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก: เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัยโดยเฉพาะคนทำงาน อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่มักปรากฏให้เห็นเช่น อุจจาระมีเลือดปน น้ำหนักลด มีอาการลำไส้อักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
  4. มะเร็งเต้านม: พบมากในผู้หญิงตั้งแต่วัยสาวเป็นต้นไป โรคมะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในต่อมน้ำนมและท่อน้ำนม โดยสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมมีหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ อายุ มีประจำเดือนตอนอายุน้อย ๆ หรือหมดประจำเดือนช้ากว่าปกติ เป็นต้น
  5. มะเร็งปากมดลูก: เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้หญิงจำนวนมาก เนื่องจากเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดได้ง่าย จึงไม่น่าแปลกใจที่ในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยรายใหม่มากถึง 500,000 คนทั่วโลก และยังเป็นอันดับต้นๆ ของโรคมะเร็งในผู้หญิงไทย มักพบในช่วงอายุ 30-70 ปี

ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเกิดจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การกินอาหารที่ไม่ดี การสูบบุหรี่ และขาดการออกกำลังกาย