วันพุธ, 27 พฤศจิกายน 2567

โรคแพนิค (Panic) ภาวะตื่นตระหนกที่รับมือได้

09 ต.ค. 2023
1170

โรคแพนิค (Panic) คือ ภาวะตื่นตระหนก วิตกกังวล หรือความกลัว ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันเหมือนโดนจู่โจมทั้งที่ไม่ได้เผชิญกับเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ที่อันตรายใด ๆเลย ซึ่งอาการรุนแรงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 3-10 นาที เกิดขึ้นเป็นพัก ๆ อาจนานถึงหนึ่งชั่วโมง โดยมักเกิดขึ้นร่วมกันอาการต่าง ๆ ที่พบได้ดังนี้

อาการของโรคแพนิค ที่พบได้บ่อย ๆ


  • ใจเต้นเร็ว สั่นเหมือนตีกลอง
  • เจ็บบริเวณหน้าอก
  • หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม
  • รู้สึกมึนงง โคลงคลง เป็นลม
  • รู้สึกชา หรือซ่า ตามปลายมือ ปลายเท้า
  • ตัวร้อนวูบวาบ หรือตัวสั่น
  • เหงื่อแตก
  • อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้หรือปั่นป่วนในท้อง
  • ความรู้สึกเหมือนตกอยู่ในความฝัน มีการรับรู้บิดเบือนไป
  • ความกลัวอย่างท่วมท้น ร่วมกับความรู้สึกสังหรณ์ว่ามีบางอย่างที่น่ากลัวเกิดขึ้นกับตัวเอง และเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ กลัวว่าจะตาย กลัวว่าจะควบคุมตนเองไม่ได้ เหมือนจะเป็นบ้า หรือแสดงอาการบางอย่างที่น่าอายออกไป

หากมีอาการ ‘แพนิก’ ผู้ป่วยควรรับมืออย่างไรให้ถูกต้อง

  1. โรคนี้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เหมือนที่ผู้ป่วยมักกลัว
  2. ควรไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษา
  3. ไม่ควรบรรเทาอาการด้วยการเสพสุรา หรือใช้ยานอนหลับ เพราะอาการรุนแรงขึ้นเมื่อหยุดเสพ
  4. ลดหรืองด กาแฟ ชา เครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ประเภทโคล่าทุกชนิด
  5. ออกกำลังกายตามสมควร ตามความสามารถ
  6. เมื่อมีอาการต่างๆ ทุเลาลงแล้ว ควรออกไปเผชิญกับสถานการณ์ที่เคยหวาดกลัวและลองทำกิจกรรมที่เคยหลีกเลี่ยงโดยเริ่มทีละน้อยแต่สม่ำเสมอ
  7. ฝึกเทคนิกการผ่อนคลาย เพื่อลดระดับของความตึงเครียด

รักษาอย่างไรได้บ้าง

ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ คือการรักษาทางยาร่วมกับการดูแลด้านจิตใจ ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นมากจนหายขาดได้ 7 หรือ 9 รายใน 10 ราย โดยอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ภายหลังเริ่มมีอาการรักษาแล้ว 6-8 สัปดาห์ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วแพทย์ยังคงให้การรักษาต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อป้องกันการกำเริบของอาการ การหยุดยาควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรหยุดยาทันที เพราะจะเกิดอาการหยุดยาหรือมีอาการกำเริบ

ที่มา : โรงพยาบาลไทยนครินทร์