ปัจจุบันนี้ ผู้คนต่างทำงานหาเลี้ยงปากท้องกันทุกวัน แต่อาจจะมีคนทำงานที่ต้องถูกเลิกจ้างแบบกะทันหัน คนส่วนใหญ่มักรู้สึกสะเทือนใจ ตกใจ รู้สึกสับสน ว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไป แล้วชีวิตต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรหากไม่มีงาน และคนที่ถูกไล่ออกส่วนมากมักรู้สึกอับอาย คิดว่าตนไม่เป็นที่ต้องการ และเป็นคนล้มเหลว หรือบางคนก็เครียดจัดจนถึงขั้นจบชีวิตตนเองลงก็มีนะคะ ดังนั้นบทความนี้จะมีคำแนะนำดี มาเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้กับผู้ที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่นะคะ ตามมาดูพร้อมกันเลยค่ะ
วิธีการรับมือกับความเครียดหลังตกงาน
- พยายามอย่าตื่นตระหนกมากเกินไป
งานวิจัยพบว่าการวิตกกังวลในระดับปานกลาง จะเป็นตัวสร้างแรงจูงใจที่ดีในการทำสิ่งต่าง ๆ แต่การตื่นตระหนก หรือวิตกกังวลขั้นสุดจะทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ ยิ่งแย่ลงไปอีก เนื่องจากสภาวะตื่นตระหนก อาจจะทำให้ไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมได้นั่นเองค่ะ
- หลีกเลี่ยงการปลีกตัว
หลายคนเมื่อเผชิญกับความเจ็บปวด มักจะปลีกตัวไปเยียวยารักษาตนเอง และการให้เวลากับตนเองเพื่อทบทวนสิ่งที่ผ่านมา เพื่อวางแผนอนาคตใหม่หลังจากตกงาน ซึ่งก็อาจจะมีประโยชน์ หากแต่ไม่ควรปลีกตัวจากคนที่รักและห่วงใยนะคะ เพราะอาจจะยิ่งทำให้เข้าสู่อารมณ์ดีจ่มดิ่งยิ่งกว่าเดิมได้ค่ะ
- อย่าปล่อยให้อารมณ์ลบมาครอบงำ
หลังจากตกงาน คนทั่วไปมักรู้สึกโกรธ ขมขื่น และเศร้าหมอง การจมอยู่กับอารมณ์เหล่านี้จะทำให้เสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ ในการที่จะนำเวลา และพลังกาย พลังใจ มาคิดหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับตนเองค่ะ
- เลี่ยงการคิดอยู่ในกรอบ
หลาย ๆ คนอาจคิดว่าการหางานชั่วคราว หรือ part-time อาจเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ แต่หากเงินเป็นปัจจัยสำคัญ พอตกงานก็ย่อมกระทบต่อการใช้ชีวิต ดังนั้นควรที่จะมองทางเลือกอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ด้วย ไม่ควรคิดอยู่ในกรอบว่าต้องทำงานที่คล้าย ๆ กับงานที่เคยทำอยู่เพียงเท่านั้นนะคะ
- ไม่ควรตั้งคำถาม “ถ้าหาก หรือ what ifs”
ยกตัวอย่างเช่น “ถ้าหากฉันไม่ถูกไล่ออก ฉันก็คง หรือ ถ้าหากฉันทำโปรเจคงานนั้นสำเร็จ ฉันก็คง….” ในเมื่ออดีตไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ไม่ควรไปเสียเวลา แต่ควรที่จะหันมาพิจารณาถึงเป้าหมายต่อไปในชีวิตจะดีที่สุดค่ะ
จะอย่างไรก็ตามนะคะ ขอให้ผู้ที่ตกงาน หรือกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่หาทางออกไม่เจอ จงเข้มแข็งเข้าไว้นะคะ ชีวิตคนเราย่อมเจอทั้งทุกข์และสุข ตราบใดที่เรายังสู้ ยังมีความหวัง เชื่อว่าต้องมีสักวัน ที่เป็นวันที่สดใสอย่างแน่นอนค่ะ
ที่มา : คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , มูลนิธิหมอชาวบ้าน